การสอบ ก.พ. โดยเฉพาะการสอบ ก.พ. ภาค ก.ซึ่งเป็นการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไปที่เปรียบเสมือนใบเบิกทางไปสู่การสอบภาค ข. ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง และภาค ค. ซึ่งเป็นการสอบสัมภาษณ์เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง การเปิดสอบภาค ก.ในแต่ละปียังมีผู้ที่สนใจสมัครสอบเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีผู้ที่พลาดโอกาสในการสมัครสอบหรือสมัครสอบแล้วไม่มีสิทธิ์เข้าสอบเนื่องจากใบสมัครเป็นโมฆะจากความเข้าไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดใน 10 เรื่องต่อไปนี้
10 เรื่องที่ผู้สมัครสอบ ก.พ. ภาค ก.อยากรู้ และ ก.พ. ออนไลน์ มีคำตอบ
ปัญหาที่ทำให้ผู้สมัครสอบส่วนหนึ่งหมดสิทธิ์ในการสอบ หรือพลาดโอกาสในการสมัครสอบเกิดจากหลายปัจจัยและหลายกรณี เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจและกำลังวางแผนเตรียมตัวสมัครสอบ ก.พ. กับท้องถิ่น หรือสมัครสอบ ก.พ. ภาค ก. ในปี 2563 ก.พ. ออนไลน์ ได้รวบรวม 10 เรื่องที่ผู้สมัครสอบ ก.พ. ภาค ก.อยากรู้ พร้อมคำตอบมาให้ ดังนี้
1.สมัครสอบ ก.พ. ภาค ก. เลือกสมัครสอบได้กี่ช่องทาง และทางใดบ้าง
การสมัครสอบ ก.พ. ภาค ก ในปี 2563 สามารถสมัครสอบได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ การสมัครสอบแบบ e-Exam หรือแบบ แบบอิเล็กทรอนิกส์ และ Paper & Pencil หรือรูปแบบกระดาษ ซึ่งผู้สมัครสอบสามารถเลือกแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเลือกสอบทั้งสองแบบ ได้
- การสอบแบบ e-Exam (แบบอิเล็กทรอนิกส์) สำหรับ ป.ตรี / ป.โท โดยสอบได้ทั้งที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 9 ศูนย์สอบ
- การแบบ Paper & Pencil (แบบกระดาษ) สำหรับ ปวช. / ปวส.- อนุปริญญา / ป.ตรี / ป.โท สอบได้ที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 15 ศูนย์สอบ
2. การสอบ ก.พ. ภาค ก. สำคัญอย่างไร สอบได้แล้วต้องสอบใหม่ทุกปีหรือไม่
การสอบ ก.พ. ภาค ก. หรือภาคความรู้ความสามารถทั่วไป เป็นการทำแบบทดสอบเพื่อวัดระดับเชาว์ปัญญา ความสำคัญได้แก่ ทุกคนที่ต้องการสอบบรรจุเพื่อรับราชการ จะต้องสอบภาค ก. ให้ได้เสียก่อน โดยการสอบ ภาค ก. จะแบ่งเป็น 3 วิชา ได้แก่
- วิชาความสามารถทั่วไป สอบคณิตศาสตร์ ด้านการคิดคำนวณ และด้านการให้เหตุผล
- วิชาภาษาไทย ด้านการเข้าใจภาษา
- วิชาภาษาอังกฤษ ทดสอบความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษเบื้องต้น จากการ ฟัง พูด อ่าน เขียน
*การสอบ ภาค ก. เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถใช้ได้ตลอด ไม่ต้องสอบใหม่อีก
3.การสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น ต้องสอบ ก.พ. ภาค ก.ก่อนหรือไม่
การสอบบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น จะเป็นการสอบที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ซึ่งเป็นสนามสอบส่วนกลางในระดับประเทศ และเปิดสอบภาค ก.และภาค ข พร้อมกันหรือสอบในวันเดียว ผู้ที่สอบผ่านภาค ก และภาค ข ของท้องถิ่นตามเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศรับสมัคร จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) โดยจะประกาศให้ทราบในภายหลังผู้สมัครสอบจึงไม่จำเป็นต้องสอบผ่าน ก.พ.ภาค ก มาก่อน เพราะเป็นคนละส่วนกัน
4. สอบผ่านภาค ก ของท้องถิ่นมาแล้ว สามารถใช้ได้ตลอดไปหรือไม่
การสอบภาค ก. ของ ก.พ. กับการสอบ ภาค ก. ของท้องถิ่นเป็นคนละส่วนกัน สำหรับการสอบภาค ก.ของ ก.พ เมื่อสอบได้แล้วจะใช้ตลอดไม่มีหมดอายุ ต่างจากภาค ของท้องถิ่นใช้สมัครสอบราชการส่วนท้องถิ่นได้ภายใน 2 ปี หลังจากนั้นต้องสอบใหม่
5.ความผิดพลาดที่ทำให้ผลสอบเป็นโมฆะ มีอะไรบ้าง
- เลขประจำตัวประชาชนของผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปไม่ตรงกับเลขประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง
- ผู้สอบผ่านไม่สำเร็จการศึกษาภายในปีการศึกษานั้น
- ผู้สอบผ่านเป็นผู้กระทำการทุจริตในการสอบ
6. กรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หลังจากที่ได้สมัครสอบไปแล้ว จะยื่นคำร้องขอแก้ไขได้หรือไม่
กรณีนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ผู้สมัครสอบใช้ชื่อเดิม นามสกุลเดิม ที่ใช้ในการสมัครสอบในวันสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป โดย หัวหน้าห้องสอบ/เจ้าหน้าที่คุมสอบจะตรวจสอบข้อมูลของผู้สอบจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน
7. ภาค ก. พิเศษ คืออะไร
การสอบภาค ก.พิเศษ เป็นการเปิดสอบให้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆที่ขาดบุคลากรในด้านนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เริ่มจากหน่วยงานราชการนั้นประกาศรับสมัครสอบภาค ข.โดยมีการระบุคุณสมบัติของผู้สมัครสอบที่ยังสอบไม่ผ่านภาค ก. ของ ก.พ. ให้มีสิทธิเข้าสอบภาค ข. ด้วย เมื่อสอบผ่านภาค ข. แล้ว ผู้ที่ยังสอบไม่ผ่านภาค ก. จึงมีสิทธิสมัครสอบ ภาค ก. รอบพิเศษทีสำนักงาน ก.พ. เปิดเป็นกรณีพิเศษให้ภายหลัง
8.ผู้มีสิทธิสมัครสอบงานราชการต่าง ๆ ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และไม่เกินกี่ปี
- ข้าราชการฝ่ายพลเรือน (สังกัด กระทรวง กรม ท้องถิ่น ฯลฯ) จะไม่กำหนดอายุขั้นสูง ขอเพียงอายุยังไม่ครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็สามารถสอบ ก.พ.ภาค ก.หรือสอบเป็นข้าราชการท้องถิ่นได้
- ข้าราชการทหาร ตำรวจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อาจกำหนดอายุขั้นสูงไว้ เช่น ต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี
9. การสมัครสอบข้าราชการท้องถิ่นต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ท้องถิ่นนั้นหรือไม่
ไม่จำเป็น สามารถสมัครสอบได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการประกาศสอบ เพียงสอบได้ที่ไหนก็จะต้องขึ้นบัญชีในเขตนั้น ๆ กรณีสอบบรรจุได้ก็จะต้องทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้บรรจุนั้นเป็นเวลา 2 ปีก่อนจึงสามารถไปที่อื่นได้
10. กรณีเปิดรับสมัครสอบข้าราชการท้องถิ่น แต่ไม่มีตำแหน่งตามวุฒิการศึกษาที่จบ ควรทำอย่างไร
กรณีนี้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ให้ตรวจสอบหาตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร โดยไม่จำกัดสาขาวิชา
การสอบ ก.พ.กับ ท้องถิ่น จะเปิดสอบเป็นประจำทุกปี เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการสมัครสอบ หรือเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการสอบ ผู้สมัครสอบควรทำความเข้าใจและพยายามหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยให้กระจ่าง เพื่อประโยชน์ของตนเอง และ ก.พ.ออนไลน์ หวังว่าคำตอบทั้ง 10 ข้อคงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน