สนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุรับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการท้องถิ่น) ถือเป็นสนามสอบที่มีผู้สมัครสอบเป็นจำนวนมากในแต่ละปี แนวข้อสอบ ก.พ. ท้องถิ่น ทั้งในภาค ก.และภาค ข จึงเป็นมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและหลักการบริหาร รวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ที่กำลังมองหาแนวข้อสอบ ก.พ. 63 มีกรอบเนื้อหาในการอ่านหนังสือ วันนี้ ก.พ. ออนไลน์ มีโครงสร้างการบริหารงานบุคคลของข้าราชการท้องถิ่น มาแนะนำ
ข้าราชการท้องถิ่นและหน้าที่ความรับผิดชอบ
ข้าราชการท้องถิ่น ก็คือข้าราชการและพนักงานที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการโดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการเทศบาล ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานครและข้าราชการเมืองพัทยา
หน้าที่และความรับผิดชอบของข้าราชการท้องถิ่น มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการตามนโยบายและแผนงานที่คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งระบุเอาไว้ โดยจะมีการกำหนดลักษณะงานและความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติออกเป็นด้านต่าง ๆ พร้อมกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน เช่น
- ด้านบริหารงาน
- ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล
- ด้านบริหารทรัพยากรและงบประมาณ
- ด้านการวางแผน
- ด้านการปฏิบัติการ
- ด้านการประสานงาน
- ด้านการบริการ
- และอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
โครงสร้างการบริหารงานบุคคลของข้าราชการท้องถิ่น
หลักเกณฑ์และแนวทางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการท้องถิ่น เริ่มจากบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นตามตำแหน่งภายในองค์กร และในการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการท้องถิ่น ได้มีการปรับเป็นโครงสร้างระดับชั้นงาน ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น
ข้าราชการท้องถิ่น ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารจัดการท้องถิ่น ได้แก่ ตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
2.ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น
ข้าราชการท้องถิ่น ที่อยู่ในตำแหน่งอำนวยการท้องถิ่น ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับฝ่าย ระดับส่วน ระดับกอง ระดับสำนักในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตำแหน่งระดับที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
3.ตำแหน่งประเภทวิชาการ
ข้าราชการท้องถิ่น ที่อยู่ในตำแหน่งนักวิชาการได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และระดับเชี่ยวชาญ
4.ตำแหน่งประเภททั่วไป
ข้าราชการท้องถิ่น ที่อยู่ในตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญการ และระดับอาวุโส
อัตราเงินเดือนของข้าราชการท้องถิ่น
- ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น
- ระดับต้น อัตราเงินเดือนระหว่าง 15,850 – 51,140 บาท
- ระดับกลาง อัตราเงินเดือนระหว่าง 22,700 – 68,640 บาท
- ระดับสูง อัตราเงินเดือนระหว่าง 25,770 – 80,450 บาท
- ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น
- ระดับต้น อัตราเงินเดือนระหว่าง 15,430 – 50,170 บาท
- ระดับกลาง อัตราเงินเดือนระหว่าง 22,140 – 67,560 บาท
- ระดับสูง อัตราเงินเดือนระหว่าง 25,080 – 78,020 บาท
- ตำแหน่งประเภทวิชาการ
- ระดับปฏิบัติการ อัตราเงินเดือนระหว่าง 9,740 – 30,020 บาท
- ระดับชำนาญการ อัตราเงินเดือนระหว่าง 15,050 – 49,480 บาท
- ระดับชำนาญการพิเศษ อัตราเงินเดือนระหว่าง 21,550 – 66,490 บาท
- ระดับเชี่ยวชาญ อัตราเงินเดือนระหว่าง 24,400 – 77,380 บาท
- ตำแหน่งประเภททั่วไป
- ระดับปฏิบัติงาน อัตราเงินเดือนระหว่าง 8,750 – 25,020 บาท
- ระดับชำนาญงาน อัตราเงินเดือนระหว่าง 13,470 – 40,900 บาท
- ระดับอาวุโส อัตราเงินเดือนระหว่าง 18,010 – 54,090 บาท
สวัสดิการและความมั่นคงของข้าราชการท้องถิ่น
- สิทธิและสวัสดิการโดดยทั่วไป
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าการศึกษาบุตร
- เงินรางวัล
- การลา
- เงินสวัสดิการ 3 จ ภาคใต้
- เงินทำขวัญ
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ค่าเช่าบ้าน
- การเดินทางไปราชการ
- เงินเดือน,ค่าตอบแทนอื่น
- เงินสวัสดิการพื้นที่พิเศษ
- สิทธิว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตรและข้าราชการที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
- บุตรมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจนกว่าจะหมดสิทธิ
- บุคคลในครอบครัวที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ได้แก่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคนที่ 1-3 (ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) คู่สมรส บิดามารดา
- การศึกษาบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 25 ปี บุตรคนที่ 1-3 กรณีบุตรแฝดให้นับคนแรกถึงคนสุดท้าย
- สวัสดิการของข้าราชการท้องถิ่นที่เป็นอิสลามศาสนิกและมีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ สำหรับข้าราชการท้องถิ่นที่เป็นอิสลามศาสนิกและมีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีภรรยาจากการสมรสตามประเพณีศาสนาอิสลามเกินกว่า 1 คน ภรรยาและบุตรจะได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ดังนี้
- ภรรยาที่ได้รับการสมรสตามประเพณีศาสนาอิสลาม เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทุกคน
- บุตรเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 3 คน ตามลำดับ
คุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับราชการ
ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานเทศบาล ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 และประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับพนักงานส่วนตำบล ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 ดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
- ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบลกำหนด
- ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรฐานทั่วไป หรือหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
- ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี จนเป็นที่รังเกียจของสังคม
- ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำ ความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามมาตรฐานทั่วไปหรือ
- หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
- ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก พราะกระทำผิดวินัยตามมาตรฐานทั่วไปหรือหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น หรือตามกฎหมายอื่น
- ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ
สำหรับเส้นทางการสมัครสอบรับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดสอบหลายตำแหน่ง ทั้งวุฒิ ระดับ ป.ตรี และวุฒิระดับตำกว่า ป.ตรี เปิดสอบตามตำแหน่งและอัตราว่างของบุคลากรของเขตหรือภาคนั้น ๆ และการเปิดสอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเปิดสอบพร้อมกันในวันเดียว ทั้ง 3 ภาค คือ ภาค ก ภาค ข ภาค ค หรือสอบเฉพาะภาค ก และภาค ข. ส่วนภาค ค.ประกาศสอบในภายหลัง และอาจเปิดสอบข้าราชการท้องถิ่นในตำแหน่งต่าง ๆ (ภาค ข) ได้ก่อน โดยสำนักงาน ก.พ. จะเปิดสอบภาค ก.พิเศษให้ภายหลัง แนวข้อสอบ ก.พ. ท้องถิ่น โดยเฉพาะแนวข้อสอบ ก.พ. 63 ได้มีการปรับเพิ่ม ความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดีเข้ามาด้วย